วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

การดำเนินชีวิตเพื่อเพิ่มพลังภูมิคุ้มกัน


ถึงตอนนี้ จะขอสรุปเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน
เพื่อเพิ่มพลังของภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

ประการแรก เราทราบแล้วว่า
พลังภูมิคุ้มกันราว 50% สร้างขึ้นด้วยแบคทีเรียในลำไส้ (จำได้ป่าว)
ดังนั้น เราจึงต้องรับประทานอาหารที่ทำเองประเภทมีเส้นใยสูง
เช่น ผัก ถั่ว และธัญพืช ซึ่งเส้นใยเหล่านี้นี่เอง
จะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของแบคทีเรียในลำไส้
และในขณะเดียวกัน
เราก็ต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารที่เติมสารปรุงแต่งต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด ผงปรุงรส สีผสมอาหาร เพราะสิ่งเหล่านี้
จะไปยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียตัวดีในลำไส้

ส่วนพลังภูมิคุ้มกันอีกราว 50% สร้างขึ้นได้ด้วยจิตใจ
พลังภูมิคุ้มกันส่วนนี้สามารถเพิ่มได้ด้วยการหัวเราะ
ซึ่งการดำเนินชิีวิตอย่างเป็นสุข
จะช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
ซึ่งแบ่งเป็นแบบ ซิมพาเทติก และ พาราซิมพาเทติก

หากระบบ พาราซิมพาเทติก มีความโดดเด่นกว่า
จำนวน ลิมโฟไซต์ จะเพิ่มขึ้น พลังภูมิคุ้มกันก็สูงขึ้น
แต่หากระบบซิมพาเทติกโดดเด่นกว่า
ร่างกายจะขาดพลังกระตุ้น ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันก็จะผิดปกติ
หากชีวิตเต็มไปด้วย ความเครียด ความกลัว
หรือความกังวลใจที่คงอยู่ยาวนาน
ระบบซิมพาเทติกก็จะโดดเด่น ภูมิคุ้มกันจะต่ำลงเรื่อยๆ

ดังนั้น ต้องยิ้มแย้มอยู่เสมอ อารมณ์สดชื่น หัวเราะบ่อยๆ
รวมทั้งต้องมีวิธีการที่ดีๆ ในการลดความเครียด
เพื่อเสริมสร้างระบบประสาทอัตโนมัติ
แอบหัวหน้าไปงีบหลับบ้างตามสมควร...555
และต้องไม่กังวลไปซะทุกเรื่อง
ก็จะเพิ่มพลังภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นได้

สุดท้ายจำเป็นต้องใกล้ชิดธรรมชาติ
ต้องให้ร่างกายได้คุ้นเคยกับจุลินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย รา ยีสต์ หรืออื่นๆ
เพื่อพัฒนารูปแบบของภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือสารกันบูดเกินจำเป็น
ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อมากเกินไปในชีวิตประจำวัน
แค่นี้...ก็จะทำให้พลังภูมิคุ้มกันธรรมชาติมีเพิ่มขึ้น



วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

พัฒนาวิธีการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน


และด้วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ยอดเยี่ยมแบบนี้เอง
ที่ทำให้เรามีชีวิตรอดมาได้
หลังจากที่ต้องผจญกับภยันตรายจากบรรดาเหล่าจุลินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นพยาธิ แบคทีเรียก เชื้อรา ไวรัส และอื่นๆ
ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของเรา
ต้องวุ่นวายกับการรุกรานของเหล่าศัตรูภายนอกอยู่ตลอด
จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
ด้วยระบบการป้องกันที่เข้มแข็ง
และทำงานได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย
เผ่าพันธุ์มนุษย์จึงยังคงอยู่ และเพิ่มประชากรได้มากมาย
ตราบจนทุกวันนี้

ระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ สามารถตอบสนองได้ดี
ต่อการเผชิญหน้ากับเชื้อโรคแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เคยหยุด
พร้อมกับมีพัฒนาการจนถงขึ้นพร้อมใช้ด้วยประสิทธิภาพสูง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบคทีเรีย รา หรือ ยีสต์
ระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติของเราจะสามารถตรวจสอบความ
แปลกปลอมเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
เพราะจุลินทรีย์ดังกล่าว
มีองค์ประกอบที่เรียกว่า เบตา-กลูแคน อยู่ที่ผนังเซลล์
ช่วยให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง

ในสมัยก่อน
อาหารประจำวันมักมียีสต์ รา หรือแบคทีเรียปะปนมาด้วย
แต่ทุกวันนี้ วิธีการผลิตสมัยใหม่ล้วนใช้ยาฆ่าเชื้อโรค
หรือไม่ก็ยาป้องกันเชื้อราในผลิตผลทางการเกษตร
ทำให้ภูมิคุ้มกันธรรมชาติของเราลดลง

นอกจากนี้ "สภาพแวดล้อมปลอดเชื้อ" ที่เราสร้างขึ้น
กลับเป็นการกำจัดจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ เสียหมดสิ้น
ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันธรรมชาติของเราต่ำลง

หากเปรียบเทียบกับเมื่อหมื่นปีที่แล้ว
เซลล์ และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเรานั้น
แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
แต่สังคมศิลิไลซ์ในปัจจุบัน ทำให้วิถีการดำเนินชีวิต
ห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ภูมิคุ้มกันธรรมชาติย่ำแย่ลง
หากจะย้อนกลับไปสู่การดำเนินชีวิตในรูปแบบเหมือนหมื่นปี
ที่ผ่านมาได้แม้เพียงเล็กน้อย ร่างกายก็จะกลับมาแข็งแรงได้ทันที
พลังภูมิคุ้มกันก็จะเพิ่มขึ้น
สิ่งสำคัญคือ...
การรับสิ่งที่ผลิตหรือสร้างขึ้นจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จะสามารถทำได้



วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

การเสริมทัพของระบบภูมิคุ้มกัน


สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้กว่า 3,800 ล้านปีแล้ว
แต่มนุษย์ปรากฎขึ้นเมื่อ 5 ล้านปีก่อนหน้านี้เอง
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
แม้ต้องเผชิญกับเหล่าจุลินทรีย์ที่เข้ามารุกรานนับครั้งไม่ถ้วน
แต่เราก็ยังยืนหยัดจนอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้
เมื่อถูกรุกรานจากจุลินทรีย์ก่อโรค ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือไวรัส
มนุษย์ก็เริ่มจากใช้ภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ที่พัฒนามาอย่างดี
แล้วส่งผ่านกันมาทางพันธุกรรม แบบรุ่นต่อรุ่น
เพื่อปกป้องตัวเองจากเชื้อโรคร้ายที่พบเจอได้บ่อยๆ
ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
แต่ถ้าวันใดระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติของเราเกิดพลาดท่าเสียที
เพลี่ยงพล้ำให้กับเชื้อโรควายร้าย
ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุนอนดึก พักผ่อนน้อย
ขาดแคลนอาหารที่ดีมีประโยชน์
หรือเป็นเพราะว่า เชื้อโรคได้ไปซุ่มพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งกว่าเดิม
หรือกลายร่างเป็นสายพันธุ์ใหม่
ทำให้ภูมิต้านทานเดิมของเรามึนงงกะทันหัน รับมือไม่ทัน
เลยต้องเพลี่ยงพล้ำไปตามระเบียบ

อย่าลืมนะว่า
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถพัฒนาตัวเองได้...เชื้อโรคก็เช่นกัน

ดังนั้นธรรมชาติจึงให้อาวุธลับมาไว้ใช้ในคราที่จำเป็น
และนั่นก็คือ "ภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำเร็ว"
ซึ่งจะปรากฎตัวได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อใดที่ระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติของเราเพลี่ยงพล้ำ
ก็ตอนที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นนั่นแหล่ะ
ภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำเร็วก็จะรับหน้าที่ต้านทานข้าศึกเอาไว้ก่อน
เป็นด่านแรก
เป็นการถ่วงเวลาเพื่อรอให้ทัพหลวง
หรือ "ระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นเองภายหลัง"
จัดกระบวนทัพให้เสร็จซะก่อน
และที่ทัพหลวงต้องเตรียมตัวนานก็เพราะต้องทำการรวบรวมข้อมูล
ของข้าศึก ตลอดจนต้องสร้างทหารที่จะสามารถเอาชนะข้าศึกที่เป็น
รูปแบบนี้ได้อย่างแน่นอน ให้เพียงพอก่อน
เมื่อทัพหลวงที่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีพร้อมกำลังทหารได้เคลื่อนพล
เข้ามาถึงแล้ว
ภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำเร็ว ก็จะส่งมอบหน้าที่การต้านทานข้าศึกให้กับ
ทัพหลวงต่อไป
ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อกำจัดผู้รุกรานให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาดนั่นเอง

ระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ เป็นระบบปกป้องร่างกายอย่างรวดเร็ว
ระบบนี้ถูกกำหนดให้ทำงาน โดยไม่ต้องการความต่อเนื่องในตัวเอง
เซลล์ที่เป็นตัวแทนในระบบนี้ คือ แมคโครฟาจ และ นิวโทรฟิล
ระบบภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำเร็ว
เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำงานโดยเซลล์เอ็นเค
แถมยังมีเซลล์บี ซึ่งมีการแสดงออกของแอนติเจน CD5 บนผิวเซลล์
เมื่อมีการติดเชื้อ
ต่อจากนั้น ก็เป็นความรับผิดชอบของ
ระบบภูมิค้มกันแบบจำเพาะ
ซึ่งเป็นหน้าที่ของเซลล์ที เพชฌฆาตในการโจมดีไล่ถล่มปิดท้าย

กล่าวได้ว่า
ระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ระบบภูมิค้มกันเหนี่ยวนำเร็ว
และระบบภูมิคุ้มกันจำเพาะ ล้วนมีบทบาทสำคัญ
เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ



วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

หน้าที่ของเหล่าทหารแห่งกองทัพ "ภูมิคุ้มกัน"



ก็อย่างที่รู้ๆ กันดีอยู่แล้วว่า
ภูมิคุ้มกันนั้น จะช่วยปกป้องร่างกายจากความเจ็บป่วย
และช่วยให้การเจ็บป่วยหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น
การควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่
ก็จะเป็นหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวซึ่งอยู่ในกระแสเลือด

สำหรับเม็ดเลือดขาวมีลักษณะพิเศษกว่าเม็ดเลือดแดง
ตรงที่เม็ดเลือดขาวสามารถบีบตัวเองให้มีขนาดเล็ก
เพื่อให้ลอดออกมาจากผนังหลอดเลือดฝอยได้
ดังนั้นหากมีเชื้อโรคเล็ดลอดเข้ามาทางผิวหนัง
เม็ดเลือดขาวก็สามารถพาตัวเองออกมาจากหลอดเลือด
และเข้าไปทำลายเชื้อโรคเหล่านั้นได้
เช่น ขณะที่เกิดเป็นฝีหนองบริเวณผิวหนัง
ก็คือการมีแบคทีเรียที่สามารถหลุดเข้าไปในผิวหนังได้
และเกิดการสู้รบกับเหล่าเม็ดเลือดขาวทั้งหลายขึ้น
ที่หัวฝีจะมีหนองเป็นตุ่มสีขาวๆ ซึ่งนั่นก็คือ
เศษซากของเม็ดเลือดขาว กับแบคทีเรียที่ตายแล้ว
และหากมีแบคทีเรียจำนวนมาก หลุดเข้าสู่ร่างกาย
ก็อาจจะบุกเลยเถิดเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้
ทีนี้พอเม็ดเลือดขาวเข้าไปจู่โจมทำลายแบคทีเรียเหล่านั้น
ก็อาจทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นไดในบริเวณต่อมน้ำเหลือง
เช่น บริเวณต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

เม็ดเลือดขาว จะแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ
หรืออาจเรียกว่าเป็น สามเหล่าทัพ ก็คือ
แมคโครฟาจ , ลิมโฟไซต์ และ แกรนูโลไซต์
ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่มีชื่อแปลกๆ เหล่านี้
ต่างก็มีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป
เช่น ทำหน้าที่เป็นหน่วยลาดตระเวน คอยตรวจตราสิ่งแปลกปลอม
ส่งสัญญาณไปยังเซลล์อื่น ออกคำสั่งจู่โจมสิ่งแปลกปลอม
หรือจู่โจมสิ่งแปลกปลอม อย่างนี้เป็นต้น

1. กองทหารลาดตระเวนพันธุ์โหด
แมคโครฟาจ (Macrophage)

โมโนไซต์ คือ กลุ่มของเม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
มีหน้าที่เป็นฟาโกไซต์ หรือแปลง่ายๆ ว่า "จอมเขมือบ"
แถมยังชอบกินแบคทีเรียบางชนิดได้ดีเป็นพิเศษอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว...
ยังสามารถสวาปามเชื้อโรคทุกชนิดที่มีขนาดใหญ่ๆ
ซึ่งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นไม่สามารถจะกลืนกินได้ (ส่งมา)

ซึ่งในกรณีที่เชื้อโรคแปลกปลอมมีขนาดใหญ่เกินไป
จนกระทั่งกินไม่ไหว กลืนไม่ลง...55555
เจ้าโมโนไซต์นี่ก็จะใช้วิธีแบ่งตัวเองออก...แบ่งออก...แบ่งออก...
เพื่อล้อมวงเขมือบเจ้าสิ่งแปลกปลอมนั้น
และเมื่อโมโนไซต์มีขนาดใหญ่ขึ้น
ก็จะกลายสภาพตัวเองหรือแปลงร่างเป็น แมคโครฟาจ (Macrophage)
และเราเรียกแมคโครฟาจ นี้ว่า "หน่วยลาดตระเวนพันธุ์โหด"
เพราะเจ้าแมคโครฟาจจะทำหน้าที่ออกลาดตระเวน
ตรวจตราไปทั่วๆ ร่างกาย
ถ้าแมคโครฟาจตระเวณไปพบกับเชื้อโรคที่อ่อนแอ
ก็จะเข้าทำการจู่โจมทันที โดยวิธีการ รุมกินโต๊ะ
กลุ่มเชื้อโรคที่โชคร้ายเหล่านั้น...นั่นเอง555

และเมื่อกินเสร็จจนอิ่มหมีพีมันแล้ว
ก็จะทำการส่งต่อข้อมูลของสิ่งแปลกปลอมนั้นไปยัง เซลล์ที
ซึ่งเป็นคลังเก็บข้อมูลส่วนกลาง
แจ้งว่ามีศัตรูแบบไหนที่บังอาจแหยมเข้ามารุกล้ำร่างกาย
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นคว้า
และหารูปแบบของจุดอ่อนศัตรูเตรียมเอาไว้
จะได้มีวิธีจัดการง่ายๆ ถ้าหากเจอกันอีกในคราวหน้า 555

แต่ถ้าเชื้อโรคที่เจอมีความแข็งแกร่งเกินไป
หรือมีปริมาณที่มากเกินกว่าจะกำจัดได้หมด
แมคโครฟาจ ก็จะทำการส่งสัญญาณข้อมูลต่างๆ ของศัตรุ
ไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ
เพื่อจะได้หาวิธีที่เหมาะสมมาจัดการกับศัตรูในขั้นต่อไป
เห็นไม...ตัวเองสู่ไม่ได้แล้ว ยังอุตส่าห์ส่งข้อมูลไปให้เพื่อน
เพื่อให้หาวิธีมาสู้กับศัตรูอีก...สุดยอดจริงๆ

2. ทัพหน้าหน่วยกล้าตาย
ลิมโฟไซต์ (lymphocyte)

เราเรียกลิมโฟไซต์ ว่า "ทัพหน้าหน่วยกล้าตาย"
โดยทัพหน้าของเรา แบ่งออกเป็นสามกองกำลังย่อยๆ คือ
เซลล์ที (T cell) กับ เซลล์บี (B cell) และ เซลล์เอ็นเค (NK cell)
หรือ Natural killer cell นั่นเอง

กองกำลังที่หนึ่ง
เซลล์ที มีจุดกำเนิดจากเซลล์ตั้งต้นในไขกระดูก
และพัฒนาจนเป็นเซลล์ทีในต่อมไทมัส (Thymus gland)
ดังนั้นจึงเรียกว่า เซลล์ที
ทีลิมโฟไซต์ เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันแบบอาศัยเซลล์
บนผิวจะมีตัวรับที่จะจับกับแอนติเจนหรือจับสิ่งแปลกปลอมที่แตก
ต่างกัน ดังนั้นจึงมีเซลล์ทีอยู่หลายชนิด
เพื่อจะได้จดจำแอนติเจน หรือสิ่งแปลกปลอมแยกชนิดกันไป

เซลล์ทียังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ไซโตทอกซิก เซลล์ที บางทีก็เรียก "เซลล์ทีนักฆ่า"
เพราะมีหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม
และจดจำเซลล์ที่มีแอนติเจนแปลกปลอมอยู่บนผิวเซลล์นั้น
และทำลายเซลล์เหล่านั้น เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์ติดเชื้อไวรัส
เซลล์จากอวัยวะที่ร่างกายได้รับการปลูกถ่าย เป็นต้น

2. เซลล์ทีผู้ช่วย
จะมีหน้าที่ช่วยเซลล์ทีชนิดอื่นๆ
รวมทั้งช่วยเซลล์บี ในการต่อต้านแอนติเจนที่แปลกปลอมเข้ามา
ในร่างกายด้วย
โดยวิธีการไปกระตุ้นเซลล์บีให้สร้างแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน
ออกมาต่อต้านเชื้อโรค

3. ซับเพรสเซอร์เซลล์ที
มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ทีผู้ช่วย และเซลล์ทีนักฆ่า
โดยจะควบคุมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ให้มีมากจนเกินไป

กองกำลังที่สอง
เซลล์บี ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
โดยการสร้างแอนติบอดีจำเพราะ สำหรับสิ่งแปลกปลอมแต่ละชนิด
การพัฒนาของเซลล์บีเกิดขึ้นที่ "เบอร์ซา ออฟ ฟาบริเซียส"
(Bursa of Fabricius) ซึ่งเป็นอวัยวะน้ำเหลืออยู่ใกล้กับโคลเอกา
(Cloaca) ดังนั้นจึงเรียก เซลล์บี (B ย่อมาจากคำว่า Bursa)
ในสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จะไม่มี Bursa
แต่ก็มีอวัยวะอื่นเทียบเท่ากัน
และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คิดว่าเซลล์บีมีพัฒนาการอยู่ใน
ไขกระดูก

ในทำนองเดียวกันกับเซลล์ที
เซลล์บี ที่ถูกสร้างขึ้นในจำนวนมากมาย
แต่ละชนิดมีความจำเพราะกับแอนติเจนหรือสารก่อแพ้ที่แตกต่างกัน
เมื่อเซลล์บีได้มาสัมผัสกับแอนติเจนแต่ละชนิด
เซลล์บีก็จะแบ่งตัวออกมากขึ้น และเปลี่ยนตัวเองหรือแปลงร่างให้
เป็น พลาสมาเซลล์ (Plasma cells) เพื่อสร้างแอนตีบอดี
หลังจากเป็นพลาสมาเซลล์แล้ว ก็จะเปลี่ยนตัวเองอีกครั้ง
เป็น เมมโมรีเซลล์ (Memory cells)
ซึ่งเมมโมรีเซลล์จะทำให้มีอายุยืนยาวกว่า
และจะทำการสร้างแอนติบอดีในปริมาณเล็กน้อยขึ้นมาตลอดเวลา
ทีนี้พอร่างกายได้รับเชื้อโรคตัวเดิมเข้าไป
แอนติบอดีที่มีอยู่นี้ก็จะทำลายเชื้อโรคนั้นทันที
ในขณะเดียวกัน...
เมมโมรีเซลล์จะแบ่งตัวเพื่อสร้างพลาสมาเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก
ทำให้สร้างแอนติบอดีได้ปริมาณมากกว่าและเร็วกว่าการสร้างใน
ครั้งแรก แถมแอนติบอดีนี้จะอยู่ในร่างกายได้นานกว่าด้วย

กองกำลังที่สาม
ลิมโฟไซต์ นอกจากจะมีเซลล์บี และเซลล์ทีแล้ว
ยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งคือ "เซลล์เอ็นเค"
(เอ็นเคนะ ไม่ใช่เอ็มเค...นั่นมันสุกี้...555)
เซลล์เอ็นเคจะรับหน้าที่ลาดตระเวนไปทั่วร่างกาย
สามารถรับรู้ถึงความผิดปกติต่างๆ ในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
และจะเปิดฉากโจมตีได้ก่อนใคร
และที่เหนือสิ่งอื่นใด
เซลล์เอ็นเคยังสามารถตรวจพบเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส
ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเข้าทำลายได้ทันทีอีกด้วย
คาดว่าในร่างกายของคนเรา
มีเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นวันละ 3,000 - 5,000 เซลล์
เซลล์เอ็นเคก็จะทำงานประสานกับเซลล์ที่เพชฌฆาต
เข้าจัดการกับเจ้าเซลล์มะเร็ง เพื่อช่วยให้เราปลอดภัยจากโรคมะเร็ง
เช่นกัน
เพราะในร่างกายแต่ละคน
มีเซลล์เอ็นเคอยู่ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านเซลล์
พบว่าคนจำนวนมาก มีเซลล์นี้มากถึง 1 แสนล้านเซลล์เลยทีเดียว
แต่ต้องบอกนะว่า
เซลล์เอ็นเคนั้น อ่อนไหวต่อเรื่องอาหาร และความเครียดทางจิตใจ
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เซลล์เอ็นเคจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ
ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง

พบว่าเซลล์เอ็นเค มีพลังทำงานได้สูงสุดตั้งแต่ช่วงเช้าราว 09.00 น.
ไปจนถึงช่วงเย็นคือราว 17.00 น.
และมีพลังต่ำสุดตอนกลางคืน 21.00 น.

3. ทัพหลวง แกรนูโลไซต์
แกรนูโลไซต์ เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีนิวเคลียส
แบ่งออกเป็นหลายๆ ก้อน ต่อเนื่องกัน
ส่วนใหญ่จะเป็นพวกฟาโกไซต์ หรือเผ่าพันธุ์จอมเขมือบ (ยังจำได้
อยู่หรือเปล่าเอ่ย) ที่กำจัดศัตรูโดยวิธีกลืนกินสิ่งแปลกปลอมที่เข้า
สู่ร่างกาย
ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กองทัพ คือ

1. นิวโทรฟิล (Neutrophil) "หน่วยพลีชีพแบบเคลื่อนที่เร็ว"
เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีมากที่สุดถึง 60% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดที่มีเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว
และโอบกินสิ่งแปลกปลอมไว้ในเซลล์ เรียกว่า "ฟาโกโซม"
ทั้งเซลล์จะเคลื่อนเข้าล้อมรอบผนังเซลล์ของสิ่งแปลกปลอม
แล้วเชื่อมรวมเป็นถุงเดียวกัน
เอมไซม์จากนิวโทรฟิลจะถูกปล่อยเข้าย่อยสิ่งแปลกปลอม
เมื่อย่อยโดยเฉพาะแบคทีเรียได้หมดแล้ว
นิวโทรฟิลก็จะตายตามไปด้วย
จากนั้นมันจะรวมตัวกันหลายเป็นหนอง และนูนขึ้นมาจากผิวหนัง
กลายเป็นฝีหนอง รอให้ร่างกายขจัดออกต่อไป
(ซึ่งส่วนใหญ่มักจะชอบบีบกัน 555)

2. เอซิโดฟิล หรือ อีโอโนฟิล (Acidophil หรือ Eosinophil)
"นักเขมือบจอมลีลา"
มีประมาณ 1 - 3% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
จะเคลื่อนที่เพื่อไปจู่โจมสิ่งแปลกปลอมได้ช้ากว่านิวโทรฟิล
แถมเวลาที่จะโอบกินสิ่งแปลกปลอมแต่ละที
จะเลือกกินเฉพะสารก่อแพ้หรือแอนติเจนที่มี "ภูมิคุ้มกัน"
ที่จะมารวมตัวจนเกิดเป็นสารประกอบแล้วเท่านั้น (Antigen-antibody
complex)
ถ้าเจอเฉพาะสิ่งแปลกปลอม หรือแอนติเจนเพียงอย่างเดียว
โดยไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่ด้วย ก็จะทำเป็นหยิ่ง ไม่ยอมจับกิน
ปล่อยให้สารก่อแพ้ที่เจอนั้น ลอยหนีไปเฉยๆ ซะงั้น
เหมือนพวกที่ชอบกินขนมปังเคลือบช็อคโกแล็ตนั่นแหละ
พอไม่มีช็อกโกแล็ตเคลือบ ก็ไม่ยอมกิน 555

ในอีโอซิโนฟิลนี้จะมีสารโปรไฟบริโนไลซิน
ที่ทำให้เลือดคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ตลอดเวลา
ไม่แข็งตัวไปซะก่อนด้วย
อีโอซิโนฟิลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบต่างๆ
และเมื่อเกิดการติดเชื้อปรสิต เช่น หนอนพยาธิ เป็นต้น

3. เบโซฟิล (Basophil)
มีประมาณ 1% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
เบโซฟิลเคลื่อนที่ได้ช้าเหมือนอะมีบา
และสามารถกินสิ่งแปลมปลอมได้
เบโซฟิลมีสาร "ฮิสตามีน" อยู่มาก
ซึ่งจะปล่อยออกมาเมื่อเนื้อเยื่อยเกิดการบาดเจ็บ
และเพื่อตอบสนองปฏิกิริยาภูมิแพ้
นอกจากนี้ยังมีสาร "เฮพาริน" ที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดด้วย


การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน



เกริ่นเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่า "ระบบภูมิคุ้มกัน"
เป็นระบบที่ธรรมชาติได้จัดสรรขึ้นมาให้กับร่างกาย
เพื่อทำหน้าที่ ป้องกันสิ่งแปลกปลอมใดๆ
ซึ่งเรียกเป็นภาษาประกิตว่า แอนติเจน (Antigens)
ที่จะมาก้าวล่วงอธิปไตย โดยการบุกรุกเข้าสู่ร่างกาย
ซึ่งอาจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา
ของ "โรคภูมิแพ้" หรือว่าจะไม่เกิดก็ได้
แต่เรียกเหมารวมว่า แอนติเจน

หน้าที่ของภูมิคุ้มกันก็คือ

ตระหนักรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอม หรือ แอนติเจน Antigens ล่วงล้ำเข้า
มาในร่างกาย แล้วจึงหาวิธีที่เหมาะสม
เพื่อจัดการกับสิ่งแปลกปลอมนั้นต่อไป
แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจนนั้น
เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้
เราก็จะมีคำพิเศษเพื่อเรียกสิ่งแปลกปลอมนั้นว่า
"สารก่อแพ้" Allergens

เมื่อรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายแน่ๆ แล้ว

จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันก็จะ สรรหาวิธีพิเศษเฉพาะ
เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นรายๆ ไป
ถ้าเข้ามาแบบผู้อพยพลี้ภัยธรรมดาที่ไม่มีพิษสง
ก็จัดการด้วยวิธีธรรมดาๆ
แต่ถ้าเข้ามาแบบอริราชศัตรู
ดูแล้วว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายอันเป็นที่รัก
ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็จะเริ่มกระบวนการ "สร้างภูมิต้านทาน"
หรือ แอนติบอดี้ (Antibodies) ขึ้นมาจากโปรตีนหลายๆ ตัว
เพื่อมาทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น
แอนติบอดีที่สร้างขึ้นมานี้ หรือจะเรียกว่า Immunoglobulins ก็ได้
ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ IgA , IgM , IgG , IgD และ IgE

เฉพาะ IgE จะเป็นภูมิต้านทาน ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น
IgE เป็นภูมิต้านทานซึ่งมีอยู่แล้วในร่างกายมนุษย์ทุกคน
เพียงแต่มีในปริมาณที่น้อยมากๆ
ส่วนคนที่เป็นพวกมนุษย์ที่อ่อนแอและแพ้ง่าย
หรือที่เรียกว่าเป็นพวก Allergic
จะมี IgE อยู่ในร่างกายปริมาณที่สูงกว่าปกติ

และภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีพวกนี้
มีความสามารถที่จะทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ
ได้ง่ายๆ เหมือนพลิกฝ่ามือ
เพียงแค่สัมผัสผิวของสิ่งแปลกปลอมเท่านั้นเอง
แอนติพอดีจะวิ่งเข้าหาแอนติเจนแบบเฉพาะของใครของมัน
แล้วรวมตัวกันกลายเป็นสารประกอบชนิดใหม่ขึ้นมา เรียกว่า
Antigen-antibody complex เพื่อสลายฤทธิ์ของแอนติเจนต่างๆ
ที่พลัดหลงเข้ามาในร่างกายได้แทบจะในทันที

เนื่องจากแอนติบอดีตัวไหน
เมื่อถูกออกแบบมาสำหรับแอนติเจนแบบใด
ก็ย่อมต้องใช้ตอบสนองเฉพาะแอนติเจนแบบนั้นเพียงแบบเดียว
ระบบภูมิคุ้มกันจึงต้องมีการจดจำข้าศึกรูปแบบต่างๆ เอาไว้
เผื่อเวลาข้าศึกแบบเดิม บุกเข้ามาในครั้งต่อไป
ก็จะสามารถรับมือกับข้าศึกหน้าเดิมๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ไม่ต้องรอให้ร่างกายค้นคว้าหาวิธีรับมืออีกครั้ง
ส่วนข้าศึกหน้าใหม่ หรือไม่คุ้นหน้า
ก็ยังต้องมะงุมมะงาหรา หาวิธีรับมือกันต่อไป
โดยปกติทั่วไป ระบบภูมิคุ้มกัน จะใช้เวลาประมาณ หนึ่งเดือน
ถึงหนึ่งปี เพื่อจดจำและสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibodies) แบบเฉพาะ
เจาะจงขึ้นมาได้

ถึงแม้ว่าในบางครั้ง คนเราอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นมา
ตั้งแต่ที่ได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นครั้งแรก
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเรา
จะต้องมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) ขึ้นมาก่อน
และจะเกิดปฏิกิริยา "โรคภูมิแพ้" ขึ้นมา
เมื่อได้มีการสัมผัสสิ่งแปลกปลอมนั้นในครั้งถัดไป

ขอทำการสรุปอีกครั้ง
แอนติเจน (Antigens) หมายถึง
"สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย"
เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี
เพื่อให้ไปจับกัับแอนติเจนผู้รุกราน
แล้วจึงเปลี่ยนสภาพของทั้งตัวเองและผู้รุกราน
ให้กลายเป็นสารประกอบระหว่าง แอนติเจน - แอนติบอดี
(Antigen-antibody complex)
เพื่อทำให้แอนติเจนที่ล่วงล้ำเข้ามานั้นกลายสภาพเป็นกลาง
ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ต่อร่างกายได้อีก
ส่วนแอนติบอดีที่สร้างขึ้นมานั้นจะเป็นแบบใดนั้น
ก็ย่อมขึ้นอยู่กับแอนติเจนผู้รุกรานที่ไปกระตุ้นให้เกิดการสร้าง
แอนติบอดีนั้นๆ ขึ้นมา
และแอนติบอดีที่ได้มานั้น ต้องทำปฏิกิริยาจำเพาะเจาะจง
กับแอนติบอดีชนิดที่เข้ากระตุ้นการสร้างตัวมันเองเท่านั้น

ยกตัวอย่าง ถ้าแอนติเจนที่เข้ามาในร่างกาย
เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ระบบภูมิคุ้มกันก็ต้องสร้าง
แอนติบอดีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งมีขนาดเท่านั้น
เพื่อให้ไปสมกับแอนติเจนนั้นให้ได้พอดี
จะมาทำขี้เกียจ หยิบเอาแอนติบอดีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
หรือแอนติบอดีชนิดห้าเหลี่ยม จากที่เคยสร้างเอาไว้แล้วมาใช้อีก
ก็ไม่ได้

แต่การสร้างแอนติบอดีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
ก็ยังไม่สามารถทำได้ทันทีเมื่อโดนแอนติเจนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
เข้ามารุกรานในครั้งแรก
เพราะต้องนำ ข้อมูล จากสิ่งแปลกปลอมที่เพิ่มจะรู้จักในครั้งแรกนี้
ไปเป็นต้นแบบในการสร้างแอนติบอดีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
ซะก่อน
พอแอนติเจนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าล่วงล้ำเข้ามารุกรานอีกครั้ง
คราวนี้ ก็จะพบกองทัพแอนติบอดีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
จำนวนมากมาย
ที่ร่างกายได้เตรียมการฝึกซ้อมก่อสร้างเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

แอนติเจนรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่รุกรานเข้ามาก็จะหมดพิษสง
เพราะโดนแอนติบอดีรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่เตรียมเอาไว้เฉพาะ
มาดักจับ
กลายเป็นสารประกอบระหว่างแอนติเจน-แอนติบอดี
หรือเรียกว่า Antigen-antibody complex
หมดโอกาสที่จะทำอันตรายใดๆ กับร่างกายอันเป็นที่รักของเราอีก



เพิ่มพลังภูมิคุ้มกัน



เนื่องจากพลังภูมิคุ้มกัน หรือกองทัพประจำร่างกาย
มีอยู่หลากหลายรูปแบบ จนไม่อาจจะกล่าวถึงได้ครบ
แต่ในวันนี้ มีการวิจัยค้นคว้าและพบว่า...
ภูมิคุ้มกัน 50% สร้างมาจากลำไส้
ส่วนอีก 50% มาจากจิตใจ
ซึ่งจะไปสัมพันธ์อย่างยิ่งกับระบบประสาทอัตโนมัติ

การยกระดับพลังภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องไม่ยาก
เพราะ 50% ของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
จะไปรวมตัวอยู่ที่เยื่อบุลำไส้
โดยเฉพาะเยื่อบุลำไส้ใหญ่
และสิ่งที่ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน ก็คือ แบคทีเรียตัวดี
หรือจุลินทรีย์จำเป็นที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่นั่นเอง

ดังนั้น การเพิ่มพลังภูมิคุ้มกัน ก็คือ
การเพิ่มชนิดและจำนวนของแบคทีเรียเหล่านี้ ยิ่งมากก็ยิ่งดี
โดยมีวิธีการหลัก ด้วยการเริ่มจากรับประทานอาหารที่มีเส้นใย
ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของแบคทีเรียในลำไส้
ตัวอย่างเช่น ธัญพืช และถั่วที่มาพร้อมเยื่อหุ้มเมล็ด
พืชผักสด ผลไม้สด ตามฤดูกาล (หาได้ง่ายๆ เนอะ)
ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตัวแบบนี้มาหลายล้านปีแล้ว
ร่างกายและระบบทุกอย่างก็ทำงานสัมพันธ์กันดี ไม่มีปัญหา
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอาหารเฟื่องฟูนี่แหละ
จึงส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบภูมิคุ้มกัน

และพบว่า...วัตถุกันเสีย และสารปรุงแต่งรส ในอาหารจานด่วน
ตลอดจนอาหารแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย
จะเป็นตัวการสำคัญยิ่งในการลดระดับพลังภูมิคุ้มกัน

ส่วนพลังภูมิคุ้มกันที่เหลืออีก 50% จะเป็นเรื่องของจิตใจ

ขอให้มีอารมณ์ดี ขยันหัวเราะ และใช้ชีวิตให้มีความสุข
เข้าใกล้ธรรมชาติ ออกกำลังกายพอประมาณ
คิดแต่ในเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงบวก
ดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ
ไม่จำเป็นต้องแสวงหาความสนุกสนานชนิดที่ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง
หรือด้วยวิธีการที่ยุ่งยากใดๆ
ด้วยวิธีการเหล่านี้ จะช่วยยกระดับให้พลังภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้แน่นอน



"ภูมิคุ้มกัน" สัมพันธ์กันกับ "ภูมิแพ้"



คนส่วนใหญ่ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า
"ภูมิแพ้กับระบบภูมิคุ้มกัน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น
จนแทบจะแกะไม่ออก"
แต่ไม่ใช่ว่าระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี แล้วจะทำให้เกิดอาการแพ้ทันที
หรือว่า ถ้ามีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว
จะทำให้ไม่เกิดอาการแพ้ตลอดไปนะ

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราก็เหมือนกับตาข่าย
ที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายถูกรุกล้ำ
จากวัตถุแปลกปลอมภายนอก
เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อก่อโรคทั้งหลาย
โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถแยกแยะได้ว่า
วัตถุใดไม่เป็นอันตราย หรือเป็นอันตราย
เพื่อจะได้ทำการกำจัดต่อไป
หากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ก็จะไม่สามารถกำจัดเหล่าเชื้อโรคที่เป็นศัตรู
ให้ออกไปจากร่างกายได้...
จึงทำให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยนั่นเอง

และหากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถแยกแยะได้ว่า
วัตถุใดดี หรือไม่ดี และดันทะลึ่งไปทำร้ายเซลล์คุ้มกัน
หรืออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
ก็จะทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หรือภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง

แต่เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ

ถ้าภูมิคุ้มกันของเรา ดันเกิดความกระตือรือร้น ขยันขันแข็ง ทำงาน
ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมามากมายจนเกินพอดี
ก็จะทำให้ภูมิต้านทานของเรา
ตอบสนองต่อสิ่งก่อแพ้มากกว่าปกติ หรือไวเกินกว่าปกติ
และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของ "โรคภูมิแพ้" นั่นเอง

ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
จึงจัดว่าเป็นระบบที่มหัศจรรย์ ซับซ้อน และเอาใจยาก
การจงใจเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
หรือปล่อยปละละเลย ไม่ยอมดูแลรักษาระบบภูมิคุ้มกันเลย
ก็ล้วนแต่ไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการภูมิคุ้มกันที่ดี

การรักษาภาวะสมดุลต่างหาก
ที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ทำงานได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ และมากด้วยประสิทธิผล



"ภูมิคุ้มกัน" กองทัพประจำร่างกาย



ภูมิคุ้มกัน จึงเปรียบเสมือนกองทัพประจำร่างกาย
มีกองทหารหลายเหล่า หลายกรมกอง
แยกย้ายไปทำหน้าที่แตกต่างกัน
เช่น ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) แมคโครฟาจ (Macrophage)
และ แกรนูโลไซต์ (Granulocyte)
ลิมโฟไซต์ยังแบ่งเป็นอีก 3 ชนิด คือ เซลล์เอ็นเค (NK หรือ Natural
killer cell) เซลล์บี (B lymphocyte) และเซลล์ที (T lymphocyte)
ซึ่งเซลล์ทีก็ยังแบ่งได้อีกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ Th-1 และ Th-2

ถ้าจะให้เปรียบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ก็เหมือนกองทัพของประเทศไทย ที่แบ่งออกเป็น
กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ
แล้วก็ยังแยกย่อยออกไปเป็นหน่วยต่างๆ ได้อีก
เช่น หน่วยเสนาธิการ หน่วยรบพิเศษ หน่วยข่าวกรอง
จารชน พลซุ่มยิง หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด และอื่นๆ
ซึ่งในแต่ละหน่วยก็มีหน้าที่
และภารกิจที่ตัวเองถนัดแตกต่างกันออกไป
ทุกหน่วยต้องร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาให้
โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมอย่างเดียวกันก็คือ
"ปกป้องร่างกาย"
ให้รอดพ้นจากภยันตรายที่จะคุมคามเข้ามาในรูปแบบต่างๆ



ความสำคัญของ "ภูมิคุ้มกัน"



หากพลังภูมิคุ้มกันสูงขึ้น
ก็จะช่วยป้องกันเชื้อก่อโรคต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสก่อโรค เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่
รวมทั้งยังสามารถช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการอ่อนเพลีย
และอาการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ
เมทาบอลิซึม (Metabolism) ไม่ขาดตกบกพร่อง
เสริมให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำหน้าที่ได้ดี แม่นยำ เที่ยงตรง
และสอดคล้องกับระบบอื่นๆ
ตลอดจนป้องกันโรคต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับความเสื่อมถอย
และยังป้องกันความเสื่อมถอยระดับโครงสร้างต่างๆ ของเซลล์ได้
อีกด้วย โอ้...สุดยอด

ก็อย่างที่ได้กล่าวมา
มนุษย์ทุกคนได้รับเซลล์มะเร็งติดตัวมาตั้งแต่เกิด
ซึ่งเป็นของขวัญจากธรรมชาติ
ดังนั้น...เซลล์มะเร็งจึงจะก่อตัวขึ้นตลอดเวลา
ประมาณวันละ 3,000 - 5,000 เซลล์

ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็จะมีหน้าที่คอยลาดตระเวนตรวจตรา
(เหมือนทหารออกตรวจขณะใช้กฎอัยการศึก)
หาตัวของเซลล์มะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
ถ้าเจอ...ก็จะเข้าจู่โจมทำลาย
ไม่ให้มีโอกาสพัฒนาเป็นเนื้อมะเร็งได้
ถ้าร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันก็จะขยันตรวจตราหาเซลล์มะเร็ง
แต่ถ้าอ่อนแอเมื่อไร ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำหน้าที่ด้วยความละเลย
ไม่ค่อยขยัน บางครั้งเห็นเซลล์มะเร็งอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ยอมทำอะไร
ปล่อยให้เซลล์มะเร็งลอยนวลไปสร้างอาณาจักร
ในที่สุดก็เลยเถิดไปเป็น "มะเร็ง" ตามส่วนต่างๆ

ระบบภูมิคุ้มกัน
ยังป้องกันร่างกายจากอาการเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า
รวมทั้งยังไปเสริมการทำงานของร่างกายในหลายรูปแบบ
เพื่อให้มี "พลังแห่งการดำรงชีวิต" อีกด้วย



เรื่องของภูมิคุ้มกัน



ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับเรื่อง
"โรคภูมิแพ้" และ "โรคแพ้ภูมิ"
เราควรจะมาทำความรู้จักกับ "น้องภูมิ" กันซะก่อน
"น้องภูมิ" หรือจะให้เรียกชื่อเต็มว่า "ภูมิคุ้มกัน"
หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ภูมิต้านทาน" ก็ยังได้
คราวนี้เรามาลองดูกันว่า
น้องภูมิ หรือ ภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิต้านทาน ที่ว่านี่
จะมีรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาประการใด

การที่มนุษย์เราทั้งหลายสามารถรอดชีวิต
และสืบสานเผ่าพันธุ์มนุษย์มาได้หลายรุ่นต่อหลายรุ่นนั้น
คิดสะระตะรวมเวลาแล้วก็คงจะยาวนานนับได้หลายล้านปี
และทุกกระบวนการที่ว่ามาทั้งหมดนี้
ย่อมเกิดขึ้นภายใต้สภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา
ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นร่างกายของมนุษย์เราจึงต้องเผชิญกับการรุกราน
จากศัตรูภายนอกมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ
ทั้งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเรายังจะพอหลบหลีก
หรือพาตัวเองตลอดจนพาครอบครัวอพยพเลี่ยงหลบได้ทัน
เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม
ตลอดจนภัยจากสัตว์ป่าที่นิยมล่ามนุษย์ไปเป็นอาหาร
รวมไปถึงสงครามที่มนุษย์ก่อขึ้นมาเพื่อรบราเข่นฆ่ากันเอง

ภัยธรรมชาติอีกส่วนหนึ่งที่มนุษยชาติทั้งหลายจะต้องเผชิญ
ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ดวยตาเปล่า
ที่เรียกว่า "เชื้อก่อโรค (Pathogen)" สายพันธุ์ต่างๆ
ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคระบาดที่น่ากลัวมากมาย
บางโรคก็สามารถทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นเบือ
จนถึงเกือบจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปเลยก็มี!!!

นอกจากปัจจัยภายนอกในรูปแบบภัยธรรมชาติ
รวมทั้งเชื้อก่อโรคขนาดเล็กกระจิ๋วหลิวซึ่งไม่สามารถมองเห็น
ได้ด้วยตาเปล่าแล้ว
มนุษย์ก็ยังจะต้องเผชิญกับภัยการเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ
ของระบบต่างๆ ที่ทำงานอยู่ภายในร่างกายของเราเอง
เช่น มะเร็ง ที่สามารถเกิดขึ้นมาได้จากการกลายพันธุ์ของเซลล์
ซึ่งมนุษย์ที่เกิดอยู่บนดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกใบนี้
ก็ล้วนแต่มีเชื้อมะเร็งเป็นของขวัญติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดทุกคน
เรียกได้ว่า คนทุกคนได้รับโอกาสที่จะเป็นมะเร็งกันอย่างเสมอภาค
ขึ้นอยู่กับความสามารถในการต้านทานโรคมะเร็ง

ซึ่งตกทอดมาทางพันธุกรรมส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการดูแลตัวเอง
ตลอดจนความสามารถในการทำร้ายตัวเอง
ด้วยรูปแบบและวิธีกาาต่างๆ ของแต่ละคน
เช่น ความเครียด อดหลับอดนอน ไม่ออกกำลังกาย
ชอบหม่ำแต่ของเน่าเสีย - หมักดอง
สวาปามแต่อาหารที่ผ่านการปรุงแต่ง
หรือนิยมอาหารที่ถูกแปรสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม เป็นต้น
(เอ้า...โดนกันไปเต็มๆ)

อย่างไรก็ตาม
ร่างกายมนุษย์ได้ถูกธรรมชาติพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาแบบรุ่นต่อรุ่น
พร้อมทั้งพัฒนาพลังในการปกป้องให้กับมนุษย์ไปด้วย
เพื่อให้ร่างกายรอดพ้นจากการคุมคามของศัตรูจากภายนอก
รวมทั้งยังมีพลังในการบำบัดรักษาตนเอง
ให้สามารถรักษาบรรเทาการเจ็บป่วยต่างๆ ลงได้ด้วย
และเจ้าพลังที่ว่านั้น ก็คือ "ภูมิคุ้มกัน" นั่นเอง